Tag Archives: การศึกษาบำบัด

จดหมายครูอ้วนเรื่อง การศึกษาบำบัด ฉบับที่ ๑

20 พ.ย.

ได้รับ อีเมลล์จากครูอ้วนที่เขียนขึ้น เมื่อได้อ่านคำถามจากผู้อ่านท่านหนึ่งเกี่ยวกับความพยายามหาที่เรียนให้ลูกที่เป็นเด็กพิเศษเข้าเรียน  ครูอ้วนได้เล่าสิ่งที่ไปพบเห็นเมื่อไม่นานมานี้จาก ชุมชนในแนว Camphill และความเห็นของครูอ้วนต่อการเรียนร่วมกันระหว่างเด็กพิเศษกับเด็กปกติ  เชิญอ่านดูครับ

สวัสดีค่ะทุกๆคน

ครูอ้วนยังไม่ได้เปิดเทอมให้กับเมษาเลยเพราะเกิดอาการไม่สบายเป็นไข้หวัดใหญ่  ผลมาจากการเดินทางไกล และกิจกรรมทุกวันตลอดสองสัปดาห์ที่ โรงเรียนเพื่อเด็กพิเศษชื่อว่า Beaverrun ในรัฐเพนซิลวาเนีย อเมริกา (ชื่อเป็นทางการคือ The Camphill Special School)    เป็นชุมชุมในแนวแคมป์ฮิลล์  ซึ่งมีรากฐานแนวคิดมาจากดร.รูดอร์ฟ สไตเนอร์และดร.คาร์ล คูนิกที่เป็นศิษย์ของเขา   ดร.คาร์ล คูนิกเป็นแพทย์ที่ศึกษาด้านตัวอ่อนมนุษย์  และเป็นคนแรกที่ริเริ่มการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนระหว่างคนพิเศษกับคนปกติ โดยนำเอาความคิดเรื่องมนุษย์และหลักการ Threefold social order ของรูดอร์ฟ สไตเนอร์มาใช้ในการบริหารจัดการชุมชนและโรงเรียน   โรงเรียนนี้มีตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมปีที่ ๖      ครูอ้วนไปอยู่ที่นั่นมาสองสัปดาห์ด้วยความอุปถัมภ์ดูแลเป็นอย่างดีของคุณครูเบ็คกี้และผู้คนในชุมชน  ซึ่งที่นั่น หมอนและครูเจี๊ยบก็เป็นนักศึกษาปีสองของการศึกษาบำบัดแนวมนุษยปรัชญานี้ด้วยค่ะ

ส่วนใหญ่แล้วครูอ้วนจะได้มีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ในห้องตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้นโต  และรวมทั้งงานด้านการบำบัดด้วย    อ่านเพิ่มเติม

บันทึก การศึกษาบำบัด (Curative Education) ที่ชุมชนแคมป์ฮิล ( Camphill )ในอเมริกา ตอนที่1

5 ต.ค.

ครูอ้วน ที่ได้ส่งบทความมาลงในเว็บอยู่หลายครั้ง ได้เสนอที่จะช่วยเป็นผู้ดูแลเนื้อหา ทางด้านการศึกษาบำบัดในเว็บนี้    และได้เขียนคำนำไว้ดังนี้

ความมุ่งหมายของครูอ้วนในการนำเสนอบทความและเรื่องราวของนักเรียนไทย สองคนที่กำลังเรียนอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูสำหรับการศึกษาเพื่อเด็กพิเศษใน อเมริกา    เพื่อต้องการให้สังคมไทยได้มีทางเลือกในการจัดการศึกษาเพื่อเด็กกลุ่มนี้  และในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ที่จะมีการรวมกลุ่มพ่อแม่ ครูและผู้สนใจจัดตั้งสถาบันเพื่อการศึกษาบำบัดและสร้างสรรค์ชุมชนที่อยู่ ร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็กพิเศษขึ้นมาอีกแห่งค่ะ

ครูอ้วนเชื่อว่าสังคมเราแข็งแรงได้  ถ้าเรามีพื้นที่ให้กับการบ่มเพาะความรักความเมตตาในหัวใจของเรา  และด้วยความรักความเมตตาที่กอปรด้วยสติระลึกรู้   จะทำให้เรามีพลังมุ่งมั่นในการทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อที่จะช่วยให้คนที่อ่อนแอกว่าได้มีพื้นที่ยืนเคียงข้างกันในฐานะมนุษย์ และปัจเจกชนคนหนึ่งไม่ว่าเขาจะพิการทางกายหรือบกพร่องทางจิตใจก็ตาม

จดหมายในครั้งนี้มาจากน้องหมอนค่ะ  เธอพำนักอยู่ที่อเมริกาเพื่อเรียนฝึกหัดครูการศึกษาบำบัดปีที่สอง  ลองอ่านเรื่องราวที่เธออยากแบ่งปันดูนะคะ

สวัสดีปีการศึกษาใหม่

สวัสดีค่ะ

ขอแนะนำตัวก่อนว่าหมอนเป็นนักเรียนไทยที่มาศึกษาด้านการศึกษาบำบัด (Curative Education) ที่ชุมชนแคมป์ฮิล ( Camphill )  แห่งหนึ่งในอเมริกา ปีนี้เป็นปีที่สองค่ะ ที่นี่มีนักเรียนไทยสองคนคือหมอน และ อีกคนคือครูเจี๊ยบที่หลายๆท่านคงรู้จักกันดี ในการเรียนที่นี่ทุกคนต้องทำงานกับเด็กพิเศษ โดยสังกัดเป็นบ้านซึ่งแต่ละบ้านจะทำงานกับเด็กในช่วงอายุต่างกัน คือ 7-12 ปี, 13-16 ปี และ 17-19ปี หรือจะลองคิดง่ายๆก็คือ บ้านเด็กประถม, เด็กมัธยมต้น และเด็กมัธยมปลายค่ะ พี่เจี๊ยบและหมอนทำงานอยู่บ้านคนละหลัง แต่อยู่ในกลุ่มอายุประถมเหมือนกันค่ะ

ตอนนี้ที่นี่อยู่ในช่วงปลายฤดูร้อน กำลังจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงซึ่งจะนับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายนเป็นต้นไป ปีนี้ดูเหมือนว่าฤดูร้อนจะบอกลาไปเร็วกว่าปกติค่ะ เพราะสองอาทิตย์แรกของเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้นอากาศเย็นและครึ้มฟ้าครึ้มฝนแทบทุกวัน พอเข้าฤดูใบไม้ร่วงอากาศก็จะเย็นลง และจะเริ่มเห็นใบไม้เริ่มเปลี่ยนสีเป็นส้ม แดง เหลือง สีม่วงก็มีนะคะ สวยงามมาก และกลางวันก็จะเริ่มสั้นลงเรื่อยๆ จนถึงวันที่กลางวันสั้นที่สุดในรอบปีซึ่งหมายถึงฤดูหนาวเข้ามาเยือนอีกครั้งนั้นเองค่ะ อ่านเพิ่มเติม

การศึกษาบำบัด (Curative Education) ตอนที่2

1 ก.ค.

คุณครูอ้วน (อภินทร์พร กิตติพีรพัฒน์) ได้ส่งบทความตอนต่อจากตอนที่แล้ว เรื่อง การศึกษาบำบัด (Curative Education) ทั้งสองตอนคือจบภาคแรกของบทความ ยังจะมีภาคจบตามมาอีกในไม่ช้านี้  ผมได้อ่านดูแล้วเห็นว่าเนื้อหาเป็นประโยชน์  และให้ความรู้กว้างกว่าเรื่องการศึกษาบำบัด  โดยพูดถึงการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 7 ขวบ ซึ่งคงเป็นประโยชน์กับผู้สนใจอื่นๆด้วยไม่เฉพาะแต่เรื่องของเด็กพิเศษเท่านั้น    เชิญอ่านได้ครับ

การศึกษาบำบัด (Curative Education)

เรียบเรียงโดย คุณครูอ้วน (อภินทร์พร กิตติรพีพัฒน์)

ในช่วงวัย 7 ขวบโดยประมาณจะเป็นวัยที่เด็กเริ่มเข้าสู่ความพร้อมที่จะเข้าเรียนในโรงเรียน   แต่ว่าปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ทำให้อายุต้องลดต่ำลงไปกว่านี้  อย่างที่เราได้เห็นว่าเด็กสมัยนี้มีความพร้อมเข้าเรียนก่อนวัย 7 ขวบ  เมื่อถึงช่วงวัย 14 ปี  ก็เป็นช่วงที่เด็กจะเริ่มออกไปเรียนรู้จากโลกภายนอก  เริ่มที่จะมีกลุ่ม  มีเพื่อน  มีความสนใจเฉพาะที่จะเรียนรู้  ในขณะที่เรามองเห็นว่าเด็กแรกเกิดเมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่  ก็จะแยกออกจากแม่เป็นอิสระ  แต่ตามแนวคิดของมนุษยปรัชญา  เราไม่ได้มองอย่างนั้น  ถ้าหากว่าดูแต่ในภาคของร่างกาย  จริงอยู่ที่เมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่เด็กก็จะเป็นอิสระ  แต่เด็กก็ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องมีการดูแลเอาใจใส่ของแม่ถึงจะดำรงชีวิตรอดอยู่ได้   เพราะฉะนั้นจริงๆก็คือเป็นการแยกแต่เพียงร่างกาย  หากเราปล่อยเด็กไว้เช่นนั้นโดยไม่มีการเอาใจใส่  เด็กจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  ซึ่งทุกคนก็รู้และเข้าใจตรงนี้  ทางวิทยาศาสตร์ก็มีการพิสูจน์ออกมาให้เห็น  ซึ่งในยุโรปไม่แน่ใจว่าเป็นอังกฤษหรือเปล่า  มีการทดลองที่ค่อนข้างโหดร้ายคือมีสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า  2 แห่ง  สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งแรกเลี้ยงดูเด็กให้อยู่รอดด้วยปัจจัยสิ่งที่จำเป็น  คืออาหาร, เสื้อผ้า, ความสะอาด  เพื่อให้เด็กอยู่รอด  ส่วนแห่งที่สองมีสิ่งเพิ่มเติมให้มากกว่าแห่งแรกนั่นคือ  ไม่ใช่ให้เฉพาะปัจจัยที่ทำให้ชีวิตอยู่รอดเท่านั้น  แต่ยังให้ความรัก  ความอบอุ่น  ผลที่พบก็คือว่า  ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งแรกเด็กค่อยๆเสียชีวิตไปเพราะเด็กจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้โดยที่ไม่มีใครไปกอดรัดให้สัมผัสหรือให้ความรัก  อ่านเพิ่มเติม

การศึกษาบำบัด (Curative Education)

27 มิ.ย.

คุณครูอ้วน (อภินทร์พร กิตติรพีพัฒน์) ได้แวะเข้ามาเยี่ยมชมและให้กำลังใจว่าเนื้อหาในเว็บไซต์เป็นประโยชน์มาก  แล้วยังกรุณาที่จะทยอยนำบทความที่ครูอ้วนได้เขียนและได้แปลไว้ในวาระต่างๆมาเรียบเรียงใหม่และยินดีให้นำมาถ่ายทอดลงที่นี่  บทความนี่เป็นบทความแรกที่ผมได้รับมา และคาดว่าคงจะมีทยอยมาเป็นลำดับ

ครูอ้วนเท่าที่ผมทราบ เคยเป็นครูที่โรงเรียนปัญโญทัยในช่วงที่ยังอยู่ที่หมู่บ้านปัญญา และ ยังเคยเป็นครูชั้นอนุบาลที่โรงเรียนแสนสนุกไตรทักษะ ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการริเริ่มหลายๆเรื่อง เช่นการจัดกลุ่มศึกษาให้พ่อแม่ได้เข้าใจการศึกษาวอลดอร์ฟ การจัดกระบวนการทำงานเพื่อส่งเสริมให้พ่อแม่มีส่วนช่วยการทำงานของครูและโรงเรียน   ต่อมาเมื่อผมและกลุ่มพ่อแม่ได้ร่วมกันจัดทำบ้านเรียนมัธยมให้ลูกๆชองพวกเราเมื่อปีการศึกษา2550-2551  ครูอ้วนได้ให้ความกรุณาพวกเราโดยสละเวลาคัดสรรองค์ความรู้ทางการศึกษาวอลดอร์ฟ และจัดกลุ่มศึกษาให้กับกลุ่มแกนของบ้านเรียนมัธยมเป็นประจำทุกสัปดาห์  ปัจจุบันความสนใจของครูอ้วนน่าจะอยู่ที่การศึกษาบำบัดสำหรับเด็กพิเศษ ด้วยภาระหน้าที่ที่รับดูแลเด็กพิเศษอยู่ในตอนนี้  ดังบทความชิ้นแรกที่นำมาลงในคราวนี้ก็เป็นเรื่องการศึกษาบำบัดเช่นกัน  เชิญอ่านได้ครับ

 

ขอขอบพระคุณพี่อุ้ย อภิสิรี จรัลชวนะเพท แห่งมูลนิธิอนุบาลบ้านรักที่ได้เอื้อเฟื้อบทความนี้ ซึ่งคัดมาจาก    “ข่าวสารบ้านรัก ฉบับที่ ๒๗ และ ๒๘ ปีที่ ๕   ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๖”   ในหน้าสายใยสังคมค่ะ          เนื่องจากการศึกษาบำบัดหรือ Curative Education เป็นอีกกิ่งก้านหนึ่งที่แตกออกมาจากแนวคิดของ          ดร. รูดอร์ฟ สไตเนอร์   ซึ่งรวมถึงแคมป์ฮิลล์ด้วยนั้น      เมื่อเร็วๆนี้ในประเทศไทยเองก็เกิดกลุ่มคนที่สนใจการศึกษาพิเศษแนวนี้และเกิดมีการจัดอบรมครูการศึกษาบำบัดในแนวมนุษยปรัชญาขึ้น    เมื่อได้ย้อนกลับมาอ่านบทความนี้ก็คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆที่สนใจและกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการช่วยเหลือลูกๆที่มีความต้องการเป็นพิเศษค่ะ  ลองอ่านดูนะคะ….หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมลอง ค้นหาที่ camphill movement  หรือ Anthroposophical curative education http://www.khsdornach.org/en/home-de/ หรือ http://anthromedia.com/ 

 

การศึกษาบำบัด (Curative Education)   และชีวิตกับการทำงานในแคมป์ฮิลล์ ชุมชนเพื่อเด็กที่ต้องการการดูแลพิเศษ

บทความนี้คัดมาจากการบรรยายโดยคุณ Andre Papper   ผู้ซึ่งเป็นครูการศึกษาพิเศษและทำงานในสถานการดูแลและบำบัดคนพิการในชุมชนแคมป์ฮิลล์ ที่ Percerval  สวิสเซอร์แลนด์ 

……………เวลาเรามองเด็กพิเศษ  เราจำเป็นต้องมองกลับมาดูในเด็กปกติด้วย  เพราะในความเป็นมนุษย์ซึ่งประกอบด้วยภาคหนึ่งที่เรียกว่าภาคของจิตวิญญาณ (Spirit)  ซึ่งเป็นส่วนที่มีสุขภาพสมบูรณ์ที่อยู่ในทุกๆชีวิต  และก็แน่นอนว่าส่วนจิตวิญญาณนี้ก็มีอยู่ในเด็กพิเศษเช่นกัน  ในอดีตกาลหลายๆคนโดยเฉพาะในยุโรป  สรุปกันว่าเด็กพิเศษเป็นการป่วยทางด้านจิตวิญญาณ  แต่ถ้าตามแนวทางของมนุษยปรัชญา  เราไม่เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น  ไม่มีทางเลยที่จิตวิญญาณจะป่วยได้  แต่อาจจะเป็นไปได้ว่าอะไรบางอย่างหรือเครื่องมือบางอย่างที่อาจจะมีส่วนบกพร่องที่ทำให้เขาอยู่บนโลกไม่ค่อยได้  อาจเปรียบได้กับเครื่องดนตรีอย่างเปียนโน  การที่จะเล่นออกมาได้ดีก็จะต้องมีการเทียบเสียง  จังหวะ  จูนออกมาให้ดีเพราะแม้ว่าจะเป็นผู้เล่นที่เก่งกาจก็ตาม  ถ้าเครื่องดนตรีไม่ดี  เสียงที่จะออกมาก็ไม่ไพเราะ  ที่นี้พวกเราทุกๆคนก็เปรียบเสมือนกับผู้เล่นเปียนโน เรามีความสามารถอยู่แล้วในฐานะผู้เล่น   แต่สิ่งสำคัญมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเล่นให้ดีได้อย่างไร  เหมือนกับว่าถ้าเราเล่นได้ดีก็คือเราสามารถยืนอยู่ในโลกนี้ อ่านเพิ่มเติม

การอบรมครูการศึกษาบำบัดตามแนวมนุษยปรัชญาหลักสูตร 3 ปี คอร์สที่ 2

5 มี.ค.

ได้รับอีเมลล์แจ้งข่าวการอบรม รายละเอียดตามนี้ครับ

คอร์สำหรับครูและผู้สนใจทำงานกับคนพิเศษ รีบสมัครด่วน และกรุณาส่งต่อผู้สนใจและผู้เกี่ยวข้องด้วยค่ะ  เนื่องจากเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญในการเข้าใจและทำงานกับเด็ก  ท่านที่สนใจแต่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาหรือค่าใช้จ่าย  อย่าให้เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ ติดต่อสื่อสารกันที่ กลาง 089 1260014 เราอยากให้คอร์สนี้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงค่ะ

การอบรมครูการศึกษาบำบัดตามแนวมนุษยปรัชญาหลักสูตร 3 ปี คอร์สที่ 2

(Teacher Training Program in Curative Education )

ณ ห้องประชุมพระยาจรัลฯ โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก

วันที่ 6 12 เมษายน 2552

 

มนุษย์เรารับรู้โลกรอบตัวผ่านประสาทสัมผัส เมื่อก่อนเราเชื่อว่าเรามีประสาทรับรู้ 6 แบบ 

แต่ Steiner พูดไว้เมื่อปี 1916 ว่าเรามีประสาทรับรู้ 12 แบบ (12Senses) การทำงานของประสาทรับรู้แต่ละแบบไม่ได้

แยกออกจากกันอย่างโดดเดี่ยว  แต่จะทำงานร่วมกันอย่างเชื่อมโยง สอดคล้องและประสานกันอย่างซับซ้อน

หากเราไม่เข้าใจธรรมชาติการรับรู้ของมนุษย์ เราจะไม่สามารถจัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้แก่เด็ก

ได้อย่างเหมาะสมกับวัย  คอร์สที่สองนี้เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับประสาทรับรู้ 12 แบบ และการศึกษาเด็กอย่างลึกซึ้ง

(Child study) ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของครูและผู้เกี่ยวข้อง ในการทำความเข้าใจ ค้นหาปัญหา และเข้าถึงเด็กได้อย่างแท้จริง เพื่อการทำงานพัฒนาเด็กได้อย่างเหมาะสม

 

ทีมวิทยากร

1. Edith Bulle

         ครูประจำชั้น นักบำบัด และที่ปรึกษาด้านการศึกษาพิเศษ ผู้มีประสบการณ์ทำงานกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากกว่า 30 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการสอน Edith มีประสบการณ์ในการประยุกต์เทคนิคการบำบัดเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น Extra lesson, Educational Kinesiology, SAMONAS Sound Therapy, และ Reflex Integration  นอกจากนั้น Edith ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันและริเริ่มโครงการมากมายสำหรับเด็กและวัยรุ่น ปัจจุบัน Edith ทำงานเป็นครูประจำชั้นในโรงเรียนวอลดอร์ฟ  Christian-Morgenstern-School ประเทศเยอรมันนี

2. น.พ.พร  พันธ์โอสถ  

         หมอผู้เชื่อว่าการรักษาและสร้างคนดีกว่าการรักษาโรค  จบแพทยศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์  ศึกษามนุษยปรัชญา จาก Spring Valley รัฐ New York ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ก่อตั้งรร.ปัญโญทัย โรงเรียนวอลดอร์ฟแห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2540 จัดการศึกษาและเผยแพร่แนวคิดมนุษยปรัชญาให้กับเด็กด้อยโอกาสและผู้สนใจมาโดยตลอด อ่านเพิ่มเติม