การศึกษาบำบัด (Curative Education) ตอนที่2

1 ก.ค.

คุณครูอ้วน (อภินทร์พร กิตติพีรพัฒน์) ได้ส่งบทความตอนต่อจากตอนที่แล้ว เรื่อง การศึกษาบำบัด (Curative Education) ทั้งสองตอนคือจบภาคแรกของบทความ ยังจะมีภาคจบตามมาอีกในไม่ช้านี้  ผมได้อ่านดูแล้วเห็นว่าเนื้อหาเป็นประโยชน์  และให้ความรู้กว้างกว่าเรื่องการศึกษาบำบัด  โดยพูดถึงการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 7 ขวบ ซึ่งคงเป็นประโยชน์กับผู้สนใจอื่นๆด้วยไม่เฉพาะแต่เรื่องของเด็กพิเศษเท่านั้น    เชิญอ่านได้ครับ

การศึกษาบำบัด (Curative Education)

เรียบเรียงโดย คุณครูอ้วน (อภินทร์พร กิตติรพีพัฒน์)

ในช่วงวัย 7 ขวบโดยประมาณจะเป็นวัยที่เด็กเริ่มเข้าสู่ความพร้อมที่จะเข้าเรียนในโรงเรียน   แต่ว่าปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ทำให้อายุต้องลดต่ำลงไปกว่านี้  อย่างที่เราได้เห็นว่าเด็กสมัยนี้มีความพร้อมเข้าเรียนก่อนวัย 7 ขวบ  เมื่อถึงช่วงวัย 14 ปี  ก็เป็นช่วงที่เด็กจะเริ่มออกไปเรียนรู้จากโลกภายนอก  เริ่มที่จะมีกลุ่ม  มีเพื่อน  มีความสนใจเฉพาะที่จะเรียนรู้  ในขณะที่เรามองเห็นว่าเด็กแรกเกิดเมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่  ก็จะแยกออกจากแม่เป็นอิสระ  แต่ตามแนวคิดของมนุษยปรัชญา  เราไม่ได้มองอย่างนั้น  ถ้าหากว่าดูแต่ในภาคของร่างกาย  จริงอยู่ที่เมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่เด็กก็จะเป็นอิสระ  แต่เด็กก็ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องมีการดูแลเอาใจใส่ของแม่ถึงจะดำรงชีวิตรอดอยู่ได้   เพราะฉะนั้นจริงๆก็คือเป็นการแยกแต่เพียงร่างกาย  หากเราปล่อยเด็กไว้เช่นนั้นโดยไม่มีการเอาใจใส่  เด็กจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้  ซึ่งทุกคนก็รู้และเข้าใจตรงนี้  ทางวิทยาศาสตร์ก็มีการพิสูจน์ออกมาให้เห็น  ซึ่งในยุโรปไม่แน่ใจว่าเป็นอังกฤษหรือเปล่า  มีการทดลองที่ค่อนข้างโหดร้ายคือมีสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า  2 แห่ง  สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งแรกเลี้ยงดูเด็กให้อยู่รอดด้วยปัจจัยสิ่งที่จำเป็น  คืออาหาร, เสื้อผ้า, ความสะอาด  เพื่อให้เด็กอยู่รอด  ส่วนแห่งที่สองมีสิ่งเพิ่มเติมให้มากกว่าแห่งแรกนั่นคือ  ไม่ใช่ให้เฉพาะปัจจัยที่ทำให้ชีวิตอยู่รอดเท่านั้น  แต่ยังให้ความรัก  ความอบอุ่น  ผลที่พบก็คือว่า  ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งแรกเด็กค่อยๆเสียชีวิตไปเพราะเด็กจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้โดยที่ไม่มีใครไปกอดรัดให้สัมผัสหรือให้ความรัก 

เด็กแรกเกิดไม่มีความสามารถที่จะไปหาอาหารหรือทำความสะอาดตัวเอง  เพราะฉะนั้นชีวิตเมื่อแรกเกิดของเด็ก  จึงจำเป็นมากที่จะต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบข้าง  จริงๆแล้วไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องให้การศึกษากับเด็กในช่วงวัยแรกเกิดถึง 7 ปี  มันเพียงพอแล้วกับการที่จะให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พร้อมและเหมาะสมและเอื้อต่อเขา  เด็กเล็กๆเรียนรู้เองที่จะลุกขึ้นยืน  ที่จะหยิบจับสิ่งของ  เรียนรู้ที่จะพูด  โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปสอน  เพราะเด็กจะเลียนแบบ และเรียนรู้จากการได้เห็นและสังเกตโดยตัวเอง  ที่นี้ถ้าเราอยากรู้ว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมอย่างไรให้เอื้อต่อการสร้างพฤติกรรมที่ดีของเด็ก  ให้ดูสภาพแวดล้อมที่นี่  ที่บ้านรักนี่  ก็จะเห็นว่าเพียบพร้อมด้วยสิ่งที่เอื้อต่อการพัฒนาของเด็กแล้ว  ในขณะเดียวกันถ้าหากว่าเด็กอยู่แต่หน้าจอทีวีแล้วเห็นแต่ภาพการ์ตูน  ภาพตัวอะไรที่ประหลาดๆ แน่นอนว่าสิ่งที่เด็กเลียนแบบมาก็คือพฤติกรรมที่ได้เห็นอยู่ตรงหน้านั้นๆ  ซึ่งสำหรับผู้ใหญ่เราเพียงแค่ดูสนุกๆเท่านั้น  แต่สำหรับเด็กแล้วมันไม่ใช่แค่สนุกอย่างเดียว  แต่จะเกิดการเลียนแบบด้วยเพราะฉะนั้นในวัยแรกเกิดถึง 7 ปีสิ่งสำคัญที่สุดของเด็กก็คือ  การเลียนแบบ   ดังนั้นหน้าที่ของผู้ใหญ่  ของครู  ของพวกเราก็คือ  ต้องเป็นผู้ที่ให้เขาเลียนแบบได้    ในขณะเดียวกันเด็กก็ต้องการการปกป้อง   ซึ่งแน่นอนว่าเราอาจจะอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถปกป้องเขาได้ในเวลาใดเวลาหนึ่ง   เพราะฉะนั้นสถานที่ที่เด็กอยู่ต้องคำนึงเรื่องของการปกป้องให้เด็กปลอดภัย  และเด็กเมื่อเกิดมาแล้วไม่ใช่มีแค่เรื่องของร่างกายอย่างเดียวแล้ว  ยังมีเรื่องของกายชีวิต   เรื่องอารมณ์ความรู้สึก  เรื่องความตระหนักในตัวของตัวเองขึ้นมา  บางทีเราอาจจะเห็นเด็กอายุสัก 2 ขวบ หรือ 3 ขวบ  เริ่มจะมีจะเป็น “ฉัน” เป็น  “ตัวฉัน” องค์ประกอบเหล่านี้มันมีอยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่เด็กเกิดมา และในส่วนของกายชีวิตยังมีอะไรต้องทำอีกเยอะแยะเลยโดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ปี  เนื่องจากตอนแรกเกิดมานั้นโครงสร้างร่างกายยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด  ยกตัวอย่างเช่น  ส่วนของสมองหรือศีรษะ  ต้องมีพัฒนาการต่อไปอีกคือยังไม่สมบูรณ์เต็มที่  แล้วในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์นี้กายชีวิตต้องทำงานหนักมาก    เพราะฉะนั้นในช่วงแรกเกิดถึง 7 ปี  ที่สมองยังไม่สมบูรณ์เต็มที่จึงยังไม่ควรไปเร่งหรือให้เด็กเรียนรู้เรื่องวิชาการเพราะว่าสมองของเขายังไม่ครบส่วน  ยังไม่พร้อม  เด็กอายุประมาณ 3 หรือ 4  ขวบ  ยังไม่สามารถคิดอะไรที่เป็นเหตุผลตรรกะ  ที่ต้องใช้เชาวน์ปัญญาหรืออะไรขนาดนั้น  ถ้าหากเรายังแข็งขืนหรือไปเร่งให้เด็กเรียน  เป็นการทำให้พลังที่ควรจะให้เด็กใช้ไปเพื่อการพัฒนาการเติบโตของสมองอย่างครบถ้วนสมบูรณ์  กลับถูกนำไปใช้ในทางด้านใดด้านหนึ่งอย่างไม่สมส่วน   เพราะฉะนั้นตรงจุดนี้ก็จะมีผลกระทบทำให้เด็กขาดความสมดุล  หรือมีปัญหากระทบกระเทือนเพราะว่าพลังชีวิตมันต้องไปทำงานเพื่อให้สมองสมบูรณ์ขึ้นทำให้องค์ประกอบของสมองครบส่วนขึ้น  แม้แต่ในทางวิทยาศาสตร์เองก็ค่อนข้างรู้สึกมหัศจรรย์กับพลังของชีวิตตรงนี้  และพลังอันนี้ก็จะสามารถเปล่งประกายฉายแสงออกมาอย่างเต็มที่เมื่อเด็กอายุ 7 ขวบ

ในวัย 7 ขวบ  จึงเป็นช่วงที่เด็กค่อนข้างพร้อมที่จะเป็นอิสระจากอ้อมอกของพ่อแม่แล้ว  จะเห็นได้ตั้งแต่ฟัน  ก็มีฟันที่แข็งแรงครบถ้วนแล้ว  เพราะฉะนั้นช่วงนี้เด็กก็จะเป็นอิสระจากการปกป้อง  ในขณะที่ช่วงแรกเกิดเด็กต้องการการปกป้องจากแม่หรือสิ่งแวดล้อมถึงจะมีชีวิตรอดอยู่ได้  แต่พอ 7 ขวบเด็กก็จะเริ่มหลุดจากการปกป้องนั้นเป็นอิสระเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  อาจจะมีคำพูดเปรียบเทียบว่าช่วง 7 ขวบนี้คือการเกิดครั้งที่ 2   ตอนเกิดครั้งแรกคือการเป็นอิสระจากท้องของแม่  แยกออกมาเป็นตัวของตัวเอง     ตอนนี้จึงเปรียบได้กับการเกิดครั้งที่ 2   ซึ่งการเกิดใหม่ครั้งนี้เด็กจะเริ่มออกไปปะทะสัมพันธ์กับสังคม  เพราะฉะนั้นในวัยนี้เด็กก็จะมีความสามารถที่จะเขียน  เรียน อ่าน เพื่อที่จะสัมพันธ์กับโลกข้างนอกได้  แต่อย่างไรก็ตามเด็กก็ยังไม่มีความสามารถที่จะแยกแยะหรือตัดสินเรื่องใดได้   ดังนั้นหน้าที่ของผู้ใหญ่ก็คือ ต้องช่วยให้ข้อมูลช่วยอธิบายหรือให้ตัวอย่างกับเขา  เพื่อที่เขาจะได้เกิดความรู้พอที่จะแยกแยะหรือทำความเข้าใจ  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ของเด็ก  จะเห็นได้เลยว่ามันเชื่อมโยงและได้รับอิทธิพลมากเลยจากสภาพแวดล้อมจากพ่อแม่หรือครอบครัว  แล้วต่อมาในช่วงวัยนี้ก็จะได้รับอิทธิพลจากครูด้วย   ทีนี้เวลาที่เราจะเริ่มสอนให้เด็กรู้เรื่องความดี  ความชั่ว  หรือคนทำดีกับคนทำชั่ว  มันจะต้องมีการเสนอออกมาให้เด็กรู้หรือเห็น  แต่ไม่ต้องไปลงลึกมีรายละเอียดซับซ้อนในเรื่องของความไม่ดีมันไม่ดีอย่างไร  หรือในความไม่ดีนั้นไม่ดีอะไร   คือไม่ต้องสอนให้ซับซ้อน  แต่ให้แสดงออกมาตรงๆซึ่งในวัยเจ็ดขวบ  ส่วนมากเด็กจะเรียนรู้โดยการจำหรือท่อง  อาจจะยังไม่สามารถเรียนรู้ด้วยการคิดออกมา  และสิ่งที่สำคัญก็คือเด็กจะเรียนรู้ได้ดีจากการที่เราเข้าหาเขาด้วยความรัก   เพราะฉะนั้นเขาจะเรียนรู้ได้ดีจากครูซึ่งรักเขา  ซึ่งได้มอบหรือสร้างสรรค์กิจกรรมอะไรก็ตามให้เขาได้เรียนรู้หรือสัมผัสจากสิ่งที่ครูเตรียมขึ้นด้วยความรัก  อีกอย่างหนึ่งก็คือ   เด็กต้องการผู้ใหญ่ที่จะบอกเขาได้แต่ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่สั่งการแบบนายทหารหรือนายตำรวจอะไรแบบนั้น  แต่เด็กต้องการให้มีผู้ชี้นำหรือผู้ที่อยู่เหนือกว่าเขา  เด็กยังต้องการคนที่คอยบอกคอยชี้นำเขาอยู่   เราจะเห็นว่าบทบาทของครูในช่วงนี้จะมีสำคัญเหมือนเป็นเจ้าชีวิต  พูดอะไรเด็กก็ฟัง  เด็กจะเชื่อฟังครูมาก  ขึ้นอยู่กับครูจะต้องบอกถึงสิ่งที่ถูกต้องที่เป็นจริงให้แก่เด็ก

(จบภาคแรกค่ะ  ต่อไปเป็นภาคสุดท้ายเรื่องชุมชนแคมป์ฮิลล์แล้วค่ะ….ครูอ้วน)

ใส่ความเห็น